Royalty free photos and vectors at Cutcaster


พม่าในปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากการเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษหลายอย่าง อังกฤษวางรากฐานหลายอย่างในพม่าใหม่ตามแบบที่มักจะเห็นในประเทศอาณานิคมอื่นๆ จากมัณฑะเลย์ที่เคยเป็นศูนย์กลางอำนาจในยุคราชวงศ์สุดท้าย อังกฤษเลือกย่างกุ้ง เมืองที่เคยเป็นเมืองเล็กๆที่ตั้งอยู่ปากแม่น้ำย่างกุ้งและมีทางออกสู่ทะเลใหญ่เป็นเมืองศูนย์กลางการปกครองอังกฤษในพม่า และภายหลังได้รับเอกราชปี พ.ศ.2491 รัฐบาลพม่าก็ประกาศให้ย่างกุ้งเป็นเมืองหลวงของประเทศ

 
อาคารสมัยใหม่ในรูปแบบโคโลเนียล ถูกสร้างขึ้นมากมายในย่างกุ้งช่วงเป็นอาณานิคมอังกฤษ

หากได้มีโอกาสไปเดินย่างกุ้งโดยเฉพาะย่านศาลาว่าการเมืองและถนนเส้นเลียบแม่น้ำย่างกุ้ง จะพบเห็นรูปแบบการวางฝังเมืองที่ทันสมัยโดยเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษ ตึกรามใหม่สถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล ถูกสร้างขึ้นมากมายโดยเฉพาะอาคารที่ทำการของรัฐที่ยังคงทิ้งร่องรอยจนทุกวันนี้ อังกฤษปกครองพม่าไม่ทันไรพม่าก็ถูกดึงเข้าสู่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 แบบเลี่ยงไม่ได้ ช่วงนี้เองโบราณสถานหลายที่ในพม่าถูกทำลายอย่างน่าเสียดาย อีกทั้งการเข้ารุกรานโดยกองทัพญี่ปุ่นทำให้ผู้คนในเมืองขึ้นของอังกฤษแห่งนี้ต้องฝ่าฟันทั้งสงครามและการต้องการเป็นเอกราช


พม่ามีชื่อทางการว่า : สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า หรือ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (Republic of the Union of Myanmar)


เมืองหลวง : เนปยีดอ (Nay Pyi Taw)

มีประชากรราว : 56 ล้านคน
(ปี 2555)

ระบอบการปกครอง : รัฐสภาที่สมาชิกมาจากการเลือกตั้ง โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขประเทศและหัวหน้ารัฐบาล

สกุลเงิน : จั๊ต (Kyat)

ภาษาราชการ : เมียนมาร์/พม่า

พิธีมอบเอกราชให้แก่ประเทศพม่า 4 มกราคม พ.ศ.2491

กว่าพม่าจะได้เอกราชนั้นต้องรอถึงหลังผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปแล้วอีกหลายปี ด้วยสถานะการณ์ของการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชของชาตินั้น ทำให้เกิดวีรบุรุษของชาตินามว่านายพลอองซาน ผู้ซึ่งเป็นทั้งนักต่อสู้และนำพาพม่าสู่เอกราช แต่น่าเสียดายที่เค้าไม่มีโอกาสได้อยู่เห็นเอกราชของพม่าในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2491 หลังจากได้เอกราชมาพม่าก็ยังไม่สงบสุข มีการแย่งชิงอำนาจกันภายในจนที่สุด พม่าเข้าสู่การปกครองโดยเผด็จการทหารแบบเบ็ดเสร็จ ที่ดำเนินนโยบายตัดขาดและปิดประเทศมายาวนาน

พม่าค่อยๆเปิดประเทศแบบค่อยเป็นค่อยไปมาโดยลำดับ ตามกระแสความเป็นไปของโลกที่ในที่สุดก็ไม่สามารถอยู่แบบโดดเดี่ยวได้ ความเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดที่สุดที่แสดงว่ารัฐบาลทหารพม่าที่แม้ยังกุมอำนาจอยู่ แต่ก็ผ่อนคลายไปสู่แนวทางขอโลกเสรีมากขึ้นคือการเลือกตั้งใหญ่ของพม่าเมื่อ 1 เมษายน พ.ศ. 2555 การเริ่มให้นานาชาติเข้าไปลงทุนมากขึ้น และการเปิดประเทศสู่สายตาชาวโลกผ่านการเป็นเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 27 เมื่อ 11-22 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ที่ผ่านมา ด้านการท่องเที่ยวไม่ต้องพูดถึงนักท่องเที่ยว ที่แสวงหาความแปลกใหม่และต้องการสัมผัสพม่าทั้งในแง่วัฒนธรรมและธรรมชาติ ที่ยังไม่บอบช้ำอันเป็นผลจากการปิดประเทศมายาวนาน ต่างเลือกพม่าเป็นจุดหมายที่ต้องมาเยือน

แล้วคุณหล่ะ อยากไปสัมผัสพม่าด้วยตัวเองรึยัง...

     


@suebsak1

เป็นคนหลงใหลเทคโนโลยีที่ชอบการเดินทางและเล่าเรื่องที่พบเจอ หลายครั้งที่พบว่าแท้ที่จริงความหมายของการเดินทางอาจไม่ใช่แค่จุดหมายที่เรากำลังจะไป แต่เป็นบรรยากาศและเรื่องราวระหว่างการเดินทางนั้นต่างหากที่ทำให้จุดหมายนั้นมีคุณค่าและน่าจดจำ

 
 

follow @suebsak1 on @suebsak1 | suebsak.com 2014 - 2016
  | | IP: