[ News Talk & Poll >> News Talk ]

 

10 กันยายน 2556

อ่านก่อน!!
10 คำถามที่ ปธ.TDRI ถาม กสทช. เมื่อ 5 กันยายน 2556 >> http://patnews.wordpress.com

หลัง ประธาน TDRI ถาม 10 คำถามให้ กสทช. ตอบเรื่องต่ออายุคลื่น 1800MHz // วันนี้ กสทช. ยิง 12 คำถามกลับให้ ประธาน TDRI ตอบบ้าง // 12 คำถามมีดังนี้

1. เหตุใด ดร.สมเกียรติ จึงเพิ่งมาตั้งคำถามเมื่อมีการฟ้องคดีหมิ่นประมาทนักวิชาการระดับผู้บริหารของสถาบัน TDRI การมาตั้งคำถามดังกล่าวเพื่อเป็นการแก้เกี้ยวที่มีการฟ้องกล่าวหาว่า ดร. เดือนเด่น ใช้ข้อมูลผิดพลาดและขัดแย้งกับมติที่ประชุมอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่วิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่าร์ Digital PCN (Personal Communication Network) 1800 เพื่ออ้างความชอบธรรมในการไปกล่าวหา กทค. หรือไม่

2. TDRI โดย ดร. สมเกียรติ ทราบหรือไม่ว่า ประกาศ กสทช. ห้ามซิมดับไม่ใช่เป็นเรื่องนำคลื่นมาจัดสรรใหม่ แต่เป็นเรื่องเยียวยาผู้บริโภคที่ยังคงค้างอยู่ในระบบ ณ วันที่สิ้นสุดสัมปทาน หากศึกษา ข้อกฎหมายแล้ว จะพบว่าเรื่องการประมูลคลื่นกับการเยียวยาผู้ใช้บริการที่ค้างอยู่ในระบบเป็นคนละเรื่องกัน เหตุใด ดร.สมเกียรติ จึงละเลยการตรวจสอบข้อมูลและนำเรื่องนี้มากล่าวย้ำ เพื่อมุ่งในการโจมตีมติ กทค. และคำชี้แจงของ กทค. ที่ได้ดำเนินการเผยแพร่มาโดยต่อเนื่อง โดยที่ไม่ได้ชี้ว่า มติและคำชี้แจงของ กทค. ไม่สมเหตุไม่สมผล อย่างไร

3. ในระหว่างที่สัมปทานยังไม่สิ้นสุด คู่สัญญาสัมปทานได้รับการคุ้มครองโดยบทเฉพาะกาลของสัญญา การที่ กสทช. จะเข้าไปดำเนินการโอนย้ายเป็นแสนหรือล้านคนอย่างที่ ดร.สมเกียรติ นำเสนอ จึงไม่สามารถกระทำได้ เหตุใด ดร.สมเกียรติ และผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงมุ่งเสนอแนะให้ดำเนินการในสิ่งที่ไม่สามารถปฏิบัติในทางกฎหมายได้ และจะเป็นผล ให้ กสทช. ถูกฟ้องร้องว่าทำให้รัฐเสียประโยชน์

4. ทางคณะผู้เชี่ยวชาญของสำนักงาน กสทช. ได้วิเคราะห์ถึงการโอนย้ายว่าไม่สามารถกระทำล็อตใหญ่ได้ และได้นำเสนอข้อมูลต่อที่ประชุม กสทช. และ กทค. แล้ว เนื่องจากมีประเด็นทางเทคนิค และต้องคำนึงถึงความสมัครใจของผู้ใช้บริการ จึงขอให้ชี้แจงว่า TDRI โดย ดร. สมเกียรติ เคยวิเคราะห์ในเรื่องนี้ในรายละเอียดด้านเทคนิคและข้อกฎหมายโดยรอบคอบหรือไม่ ก่อนมาวิพากษ์วิจารณ์และเสนอแนวทางในการโอนย้ายที่ไม่สามารถปฏิบัติได้

5. ดร.สมเกียรติ เคยวิเคราะห์หรือไม่ว่า การเร่งประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ในกรณีนี้ก่อนสิ้นสุดสัมปทานนำมาซึ่งความเสียหายของประเทศ โดยคาดคะเนหรือไม่ว่า หากเร่งประมูลขณะนี้ ผู้ประกอบการที่จะเข้าประมูลคลื่น 1800 มีแนวโน้มจะมีจำนวนน้อยรายกว่าเมื่อครั้งประมูล 3 จี เนื่องจากผู้ประกอบการบางรายยังถือครองคลื่นเป็นจำนวนมาก และ TDRI ทราบหรือไม่ว่า การประมูลคลื่นความถี่ ผู้ชนะการประมูล จะได้ไปซึ่งสิทธิในการใช้คลื่น แต่ผู้ชนะการประมูลยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ทันที โดยจำเป็นจะต้องดำเนินการในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะการติดตั้งโครงข่ายซึ่งโครงข่าย 1800 ปัจจุบัน เป็นโครงข่าย 2 จี ส่วนโครงข่าย 3 จี ก็ยังติดตั้งโครงข่ายเพื่อให้บริการคลื่น 2100 ยังไม่สำเร็จ และที่ สำคัญเครื่องโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้บริการ 2 จีจำนวนมาก ที่อยู่ในโครงข่าย 1800 ปัจจุบันก็ไม่รองรับการใช้คลื่นย่าน 2100 MHz ทำให้ผู้ใช้บริการเหล่านี้ไม่สามารถโอนย้ายไปยังโครงข่าย 3 จีได้ การที่ผู้ใช้บริการเหล่านี้จะโอนย้ายได้จะต้องเปลี่ยนเครื่องโทรศัพท์ใหม่ทำให้ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ ฉะนั้น แม้จะเร่งการประมูลฯ ก่อนสิ้นสุดสัมปทาน ก็จะทำให้ผู้ใช้บริการที่ค้างอยู่ในระบบไม่สามารถโอนย้ายไปสู่ระบบใหม่ได้อยู่ดี ข้อเสนอให้เร่งการโอนย้ายของ ดร.สมเกียรติ จะทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน แต่เหตุใด ดร.สมเกียรติ และผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงมีข้อเสนอแนะเช่นนี้ ในประเด็นนี้ TDRI ต้องตอบคำถามของสังคมให้ได้

6. TDRI โดย ดร.สมเกียรติ หรือนักวิชาการในสังกัดของสถาบันนี้ ได้เคยสำรวจความพร้อมของตลาดในเรื่องอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือไม่ ว่าถ้าประมูลคลื่น 1800 แล้วมีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีให้สูงขึ้น จาก 2 จี ไปเป็น 4 จี โดยผู้ประกอบการที่ประมูลได้ไปเปิดให้บริการ 4 จี เช่นนี้ ผู้ใช้บริการจะสามารถหาซื้ออุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 4 จี ในขณะนี้หรือไม่ และในราคาที่สมเหตุสมผลหรือไม่ หากไม่ได้สำรวจ ขอให้ TDRI ชี้แจงว่าทราบหรือไม่ว่าอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้บริการ 4 จีได้ ในขณะนี้มีจำนวนจำกัดและมีราคาแพง ส่วนอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้บริการ 3 จี ก็ยังมีราคาแพงกว่าโทรศัพท์มือถือระบบ 2 จี อยู่มาก การเร่งให้เปิดบริการ 4 จี โดยเร่งประมูลทันทีย่อมจะทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการกลุ่มที่มีรายได้น้อยเดือดร้อน จึงขอถามว่า เหตุใด TDRI ภายใต้การนำของ ดร. สมเกียรติ จึงไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีใครสามารถตอบได้ว่า ผู้ชนะการประมูล จะตัดสินใจเริ่มให้บริการ ที่ประมูลคลื่นได้ในระบบใด 2 จีเดิม 3 จี หรือ 4 จี เพื่ออนาคตกันแน่ เพราะคลื่นความถี่ 1800 ที่จะว่างจากการหมดสัญญาสัมปทานของ ทรูมูฟ และ ดีพีซี รายละ 12.5 MHz ไม่ได้อยู่ติดกัน

7. หากมีการอ่านประกาศห้ามซิมดับของ กสทช. TDRI โดย ดร. สมเกียรติ ก็ย่อมจะทราบว่าหากไม่มีการออกประกาศห้ามซิมดับ จะทำให้เกิดสภาวะซิมดับ แล้วทำให้ผู้ใช้บริการต้องโอนย้ายไปยังผู้ประกอบการที่ให้บริการ 2 จี ค่ายที่สัมปทานยังเหลืออีกหลายปี ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น จะเกิดการผูกขาดตลาดบริการ 2 จี ทำให้กระทบต่อหลักการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม เหตุใด TDRI จึงมีข้อเสนอที่จะส่งผลให้เกิดการผูกขาดการให้บริการ 2 จี

8. TDRI โดย ดร.สมเกียรติ ย่อมทราบอยู่แล้วว่า ประกาศห้ามซิมดับ เป็นการกำหนด "หน้าที่ให้ผู้ให้บริการห้ามหยุดการให้บริการ โดยไม่ได้เป็นการให้ "สิทธิ" แก่ผู้ประกอบการเพราะไม่ได้เป็นการจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ ทั้งไม่ได้ขัดต่อ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 เนื่องจาก ทั้ง พ.ร.บ. องค์การจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และแผนแม่บทฯ บัญญัติให้ต้องคืนคลื่นเมื่อสัมปทานสิ้นสุด และให้ กสทช. นำมาจัดสรร แต่ก่อนที่จะจัดสรรในช่วงเปลี่ยนผ่าน กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ว่า จะเยียวยาปัญหาของผู้ใช้บริการที่ค้างอยู่ในระบบอย่างไร เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 ก็บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า การจัดสรรคลื่นและกำกับดูแลของ กสทช. จะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนโดยไม่ได้ให้ไปดูประเด็นเรื่องการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมเป็นหลัก แล้วดูประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นรอง เหตุใด TDRI จึงเสนอแนวทางที่ไม่คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเห็นหลัก แต่กลับเสนอแนวทางที่จะทำให้ กทค. กระทำผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

9. เหตุใด TDRI โดย ดร.สมเกียรติ จึงอ้างแต่เฉพาะ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 โดยไม่ได้ดูบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นบทบัญญัติกฎหมายในลำดับสูงสุด TDRI รู้หรือไม่ว่า พ.ร.บ. จัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ที่ ดร. สมเกียรติ มีส่วนในการ ยกร่างเป็นกฎหมายที่มีปัญหาอย่างยิ่ง มีช่องโหว่มากมาย จนทำให้ กสทช. และกระทรวงไอซีที เห็นพ้องตรงกันว่าจะต้องรีบดำเนินการแก้ไข ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวไม่ได้มีบทบัญญัติที่จะเยียวยาในกรณีที่มีผู้ใช้บริการเดือดร้อนในระหว่างการเปลี่ยนผ่าน ฉะนั้นเมื่อกฎหมายในลำดับพระราชบัญญัติมีช่องโหว่ แต่ยังมีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายในลำดับ พระราชบัญญัติ เช่น พ.ร.บ. ประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ ยังสามารถใช้และตีความให้เกิดประโยชน์และปกป้องสิทธิของประชาชนได้ เหตุใด TDRI จึงเลือกแนวทางที่ใช้และตีความกฎหมายในทางที่อาจส่งผลทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการเดือดร้อน

10. ไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ที่กำหนดให้ กสทช. ต้องเร่งรัดจัดการประมูลฯ ก่อนสิ้นสุดสัมปทาน ตรงกันข้าม มาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ให้ กสทช. จัดสรรคลื่นความถี่ โดยการประมูลตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช. ประกาศกำหนด จึงเห็นได้ชัดว่า กฎหมายให้ กสทช. ใช้ดุลพินิจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และเงื่อนไข และจัดประมูลในช่วงเวลาที่เหมาะสม ด้วยเหตุนี้ TDRI โดย ดร.สมเกียรติ ทราบหรือไม่ว่า หลักเกณฑ์สำคัญในการจัดสรรคลื่นความถี่ คือ ต้องกลับไปดูที่มาตรา 47 แห่งรัฐธรรมนูญฯ ว่าจะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน ฉะนั้น หาก กสทช. เร่งรัดประมูลโดยนำเอากรอบการสิ้นสุดสัมปทานมาคำนึงถึงแล้วทำให้ประชาชนที่อยู่ในระบบและใช้บริการ 2 จี จำนวนกว่า 17 ล้านคนเดือดร้อน จะเป็นการคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนหรือไม่

11. หาก กทค. เชื่อตาม TDRI ในการเร่งจัดประมูลก่อนวันสิ้นสุดสัมปทาน โดยไม่มีการออกประกาศห้ามซิมดับ และไม่ศึกษาให้รอบคอบ แล้วเกิดความเสียหายทำให้การประมูลคลื่นต้องล้มเหลว ประชาชนต้องตกค้างอยู่ในระบบเป็นจำนวนมาก เกิดสภาวะ "ซิมดับ" TDRI ภายใต้การนำของ ดร.สมเกียรติ จะออกมาแสดงความรับผิดชอบหรือไม่ และประชาชนกว่า 17 ล้านคนที่เดือดร้อนจากซิมดับจะสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจาก TDRI ได้หรือไม่

12. การที่ TDRI โดย ดร. สมเกียรติเสนอให้เร่งรัดประมูลคลื่น 1800 ที่ให้บริการ 2 จี ก่อนสิ้นสุดสัมปทาน โดยเชื่อว่าจะสามารถโอนย้ายผู้ใช้บริการ 2 จี ได้สำเร็จ TDRI เอาแนวปฏิบัติจากประเทศใด และมีแนวปฏิบัติสามารถรองรับแนวคิดของ TDRI หรือไม่ มีองค์กรระหว่างประเทศใดที่รองรับแนวคิดของ TDRI และ กทค. จะเชื่อได้อย่างไรว่า สิ่งที่ TDRI เสนอเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะขนาดหลักเกณฑ์เรื่อง N-1 ที่ TDRI สนับสนุนในช่วงที่ กทช. จัดประมูล 3 จี เมื่อ กสทช. ได้ตรวจสอบจากแนวปฏิบัติสากลและแนวปฏิบัติของประเทศต่างๆ ที่จัดประมูลคลื่นแล้วพบว่า เป็นหลักเกณฑ์ที่ไม่ได้รับการยอมรับ และประเทศที่เคยนำ N-1 มาใช้ก็ประสบความล้มเหลวจนเลิกใช้ไปแล้ว นอกจากนี้ ที่เคยมีการโจมตี กสทช. ว่าจัดประมูล 3 จี ล้มเหลว ทำให้ประเทศชาติเสียหายกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาทนั้น มาถึงวันนี้ จะเห็นว่า ข้อกล่าวหาที่นำมาโจมตี กสทช. เป็นเรื่องที่คลาดเคลื่อน เพราะการจัดประมูล 3 จี ของ กสทช. ได้รับการยอมรับตามมาตรฐานสากล โดยมีหลักฐานยืนยันจากผลการศึกษาของ ITU เรื่องการจัดประมูล 3 จี ของ กสทช. นอกจากนี้ หากตรวจสอบข้อมูลในทางเศรษฐกิจจะเห็นว่าประเทศไทยได้รับประโยชน์จากความสำเร็จในการที่ กสทช. สามารถออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 3 จี เป็นผลสำเร็จสามารถคำนวณเป็นจำนวนเงินมหาศาล ทั้งความเชื่อมั่นจากเวทีระหว่างประเทศเกี่ยวกับกิจการด้านโทรคมนาคมของไทยได้รับการยกระดับสูงขึ้น และจากการลงทุนในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคมที่มีระดับสูงขึ้น เหตุใด TDRI จึงไม่ศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อน แต่กลับวิพากษ์วิจารณ์ กสทช. ต่อสาธารณชนเกี่ยวกับผลการประมูลคลื่น 3 จี ในมุมมองที่ตรงกันข้ามกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความสับสนและความเข้าใจผิดต่อ ผลการจัดประมูล 3 จี ของ กสทช.

ที่มา: มติชน ฉบับวันที่ 11 ก.ย. 2556 (กรอบบ่าย)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Home | Suebsak's Talk | Tech | Trip | Knowledge | Lifestyle