2013.09.12 - นับถอยหลัง ย้อนเวลาก่อนสัมปทาน 1800MHz DPC, TrueMove หมด 15 ก.ย. นี้

 

นึกๆไปก็ใจหาย ถ้านับจากวันที่เขียนบทความนี้ 12 กันยายน 2556 ก็เหลือเวลาอีกเพียงสามวัน ที่สัมปทานมือถือ 1800MHz สองค่ายคือ DPC และ TrueMove ก็จะหมดลง ในวันที่ 15 กันยายน 2556 นี้แล้วครับ ถ้าหากว่าไม่นับเรื่องการต่อเวลา ชวนมาย้อนเวลานึกถึงที่มาของสองค่าย สองสัมปทานนี้ ซึ่งนับจากเริ่มแบ่งคลื่นมาให้บริการจนจะหมดสัมปทานมีข้อมูลที่น่าสนใจครับ

ถ้าย้อนเวลาไปหลายปีก่อน เมื่อเราพูดถึงสัมปทานระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ เอาเฉพาะระบบ 1800 MHz นั้น จริงๆจะไม่ได้มีชื่อของสองบริษัทคือ DPC (บริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด) และ TrueMove (บริษัท ทรูมูฟ จำกัด) ที่กำลังจะหมดสัมปทานลงในวันที่ 15 กันยายน 2556 นี้ครับ ในเวลานั้น เราจะได้ยินแต่ชื่อของ บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือแทค ซึ่งได้รับสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ความถี่ 1800MHz ในระบบ PCN1800 จากการสื่อสารแห่งประเทศไทย (CAT) ในขณะนั้น โดยให้บริการภายใต้ชื่อ WorldPhone 1800 Digital

เปลี่ยนมือครั้งที่ 1!! แรกเริ่มแยกคลื่นโอนสิทธิ์การให้บริการแก่ WCS และ DPC

แทคได้รับสัมปทานดังกล่าวบนความถี่ 1800MHz ที่มีแบนด์วิธกว้างถึง 75MHz ซึ่งถือว่าเป็นแถบความถี่ที่กว้างมาก ในต่างประเทศนั้น แบนด์วิธกว้างขนาดนี้ สามารถมีผู้ให้บริการ (Operator) ได้ถึงสามถึงสี่รายได้สบาย ดังนั้นจะเรียกได้ว่า บ. แทค ในเวลานั้นได้ความถี่มาเหลือเฟือก็ว่าได้ จนแม้ถึงปัจจุบันนี้แถบความถี่ดังกล่าวก็ยังไม่ได้ใช้เต็มทั้งแบนด์วิธครับ


แถบความถี่ช่วงคลื่น 1800MHz ที่แสดงการแบ่งใช้งาน 3 ผู้ให้บริการ

เมื่อ แทค ให้บริการมาระยะหนึ่ง จึงเห็นว่าแถบความถี่ที่มีสามารถขายสิทธิ์ที่มีให้ผู้บริการรายอื่นได้ และด้วยความยินยอมของการสื่อสารแห่งประเทศไทย หรือ กสท. ในตอนนั้นจึงได้ดำเนินการเพื่อโอนสิทธิการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ PCN 1800 แก่บริษัทอื่นที่สนใจสองรายคือ

รายแรก ตกลงได้ราวตุลาคม 2539 และเริ่มให้บริการ พฤษภาคม 2540 ได้แก่ บริษัท ไวร์เลส คอมมิวนิเคชั่นส์ เซอร์วิส จำกัด (Wireless Communication Service Co.,Ltd. หรือ WCS) ซึ่งมี บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ IEC ถือหุ้น 35% แทค 45% และบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน 8.9% การสื่อสารแห่งประเทศไทย(กสท.) 1.1% และที่เหลือเป็นนักลงทุนต่างชาติ ให้บริการบนแบนด์วิธกว้าง 12.5MHz ในชื่อ "Digital IQ" [WCS เลือกใช้อุปกรณ์ของ Nortel]


โลโก้ DPC และกลุ่มสามารถในขณะนั้น

รายที่สอง ตกลงได้ราว ธันวาคม 2539 และเริ่มให้บริการได้ราวปลายปี 2540 ได้แก่ บริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (Digital Phone Co.,Ltd. หรือ DPC) โดยมีกลุ่มบริษัท สามารถ เป็นหุ้นใหญ่ 80% ส่วนแทคประมาณ 10% ที่เหลือก็จะเป็น กสท.และรายอื่น ให้บริการบนแบนด์วิธกว้าง 12.5MHz ในชื่อ "Hello 1800" [DPC เลือกใช้อุปกรณ์ของ Nokia]

เป็นอันว่า จากผู้ให้บริการแต่เพียงรายเดียวบนคลื่น 1800MHz มาแต่ต้น ณ ปลายปี 2540 แทค ก็มี WCS และ DPC มาเป็นผู้ให้บริการใหม่อีกสองราย (หลังแบ่งคลื่นแล้วแทคยังเหลือคลื่น 1800MHz อีก 50MHz หมดอายุปี 2561) โดยแม้จะถือเป็นผู้ให้บริการเต็มตัวทั้งสองราย แต่การให้บริการในช่วงต้นนั้น ทั้ง WCS และ DPC ต่างก็ต้องทำ Roaming Agreement กับโครงข่าย PCN1800 ของแทคไปก่อน เพราะเครือข่ายของตัวเองยังไม่มี หรือมีไม่ครอบคลุมนั่นเอง

เปลี่ยนมือครั้งที่ 2!! WCS และ DPC ไปไม่รอดทั้งคู่ ถ่ายโอนสู่เจ้าของใหม่

ในยุคสิบกว่าปีก่อนการให้บริการมือถือยังไม่รุ่งแบบทุกวันนี้ มือถือยังมีราคาแพงและตลาดยังไม่ได้ขยายตัวมากนัก การแข่งขันในตลาดเพื่อแย่งลูกค้าที่มีกำลังซื้อซึ่งมีอยู่กลุ่มเดียวและเลือกใช้ระบบที่มีเครือข่ายครอบคลุมอยู่แล้วเป็นหลัก (ตอนนั้น AIS ให้บริการระบบดิจิตอลบนความถี่ 900MHz เช่นกันในชื่อ Digital GSM) ในขณะที่การลงทุนด้านเครือข่ายต้องใช้เงินลงทุนระดับหลายหมื่นล้านบาท สุดท้ายทั้ง WCS และ DPC ทำท่าจะไปไม่รอด


เทียบพื้นที่ให้บริการครอบคลุมระบบ Digital GSM900 กับระบบ Digital IQ และ Hello ณ ปี 2543 *GSMA.com

หลังทนให้บริการมา 3 ปี ในปี 2543 WCS หรือชื่อทางการตลาดว่า "Digital IQ" ก็บรรลุข้อตกลงในการขายกิจการให้กับกลุ่ม บริษัท กรุงเทพ เทเลคอมโฮลดิ้ง ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่มองเกมส์ต่อยอดธุรกิจโทรคมนาคมให้กับบริษัทในเครืออย่าง บมจ.เทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น (TA) (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น ทรู คอร์ปอเรชั่น) ที่ขณะนั้นได้รับสัมปทานโทรศัพท์บ้านใน กทม. อยู่ก่อนแล้ว

โดย TA ได้เลือกพันธมิตรต่างชาติระดับโลกอย่าง บริษัท ออเรนจ์ (Orange) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท โวดาโฟน จากประเทศอังกฤษ บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจโทรศัพท์มือถือระดับโลก (ณ ขณะนั้น Orange ยังเป็น บริษัทลูกของ Vodafone Air Touch แห่งประเทศอังกฤษ ก่อนที่ Vodafone จะมาขายกิจการ Orange ให้ France Telecom ในปี 2000) เข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมทุนในบริษัทใหม่ บริษัท ทีเอ ออเร้นจ์ จำกัด (TA-Orange Co.,Ltd. หรือ TAO) จนรีแบรนด์ปักธงเปิดเครือข่ายใหม่ในชื่อ "Orange" แบรนด์ระดับโลกอย่างกระหึ่มในประเทศไทย [TAO เลือกใช้อุปกรณ์ของ Alcatel]


Orange ขณะนั่นทุ่มเม็ดเงินมหาศาลในการเร่งขยายเครือข่ายจนครอบคลุมทั่วประเทศในเวลาอันสั้น

ในปีเดียวกัน DPC ซึ่งมีกลุ่มสามารถถือหุ้นใหญ่ก็เจรจากับกลุ่มชินคอร์ปอเรชั่น และตกลงแลกเปลี่ยนหุ้นกัน จนนำไปสู่การถ่ายโอน DPC ไปสู่ชินคอร์ปอเรชั่น ก่อนจะย้ายไปสังกัดเป็นบริษัทลูกของ AIS ในเวลาต่อมา โดยลบชื่อ "Hello 1800" ออกจากตลาด เปลี่ยนไปใช้ชื่อ "GSM1800" จนถึงปัจจุบัน


พื้นที่ให้บริการระบบ GSM1800 ของ DPC ณ ปี 2543 *GSMA.com

เปลี่ยนมือครั้งที่3!! สู่ TrueMove

จากปี 2543 ถึงปี 2549 ที่ชื่อ Orange ปักธงอยู่ในไทย แต่ด้วยทั้งการตลาดแบบคาดเดายากของตลาดมือถือเมืองไทย ที่แม้แผนการตลาดที่ประสบความสำเร็จจากเมืองนอกอาจไม่ใช่คำตอบของตลาดบ้านเรา Orange SA ขอโบกมือลาโดยถอนทุน ขายหุ้นทั้งหมดที่มีในมหาดิลสนั่นวงการที่ราคา "1" บาท ให้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อแลกกับการปลดแอกจากหนี้กว่า 30,000 ล้านที่เกิดจากการลงทุนใน TAO โดยหลังจากนั้นทรูได้เข้ามาบริหารทั้งหนี้ และเครือข่าย และนับเป็นการเปลี่ยนมืออีกครั้งสู่ชื่อ "TrueMove" จนปัจจุบัน

จากจุดเริ่มต้นแยกสิทธิ์การให้บริการบนคลื่น 1800MHz เมื่อปี 2539 ถึงปัจจุบัน รวมเวลา 17 ปีที่ช่วงคลื่นบนความถี่ 1800MHz ที่แบ่งออกมา 12.5MHz+12.5MHz ได้ให้บริการคนนับล้าน สร้างสีสันการตลาดมากมายและจะสิ้นสุดสัมปทานลงในวันที่ 15 กันยายน 2556 ที่จะถึง ปิดตำนานถาวรทั้ง Digital IQ, Hello1800, GSM1800, Orange และ TrueMove เป็นอีกหนึ่งหน้าบันทึกของโทรคมฯไทย

[อนึ่ง กสทช. มีมติให้ผู้ให้บริการทั้งสองรายคือ DPC และ TrueMove ยืดระยะเวลาใช้คลื่นต่อไปอีก 1 ปีนับจากวันที่หมดอายุสัมปทาน เพื่อเป็นการเยี่ยวยากับลูกค้าที่ยังไม่ได้ทำการย้ายไปยังค่ายใหม่ ให้ไม่ได้รับผลกระทบของการสิ้นสุดการให้บริการ ทั้งนี้ทั้ง DPC และ TrueMove ไม่มีสิทธิ์ทำการตลาดและรับลูกค้าใหม่เพิ่มอีกในช่วงเวลาดังกล่าว]

[หากต้องการนำบทความนี้ไปเผยแพร่หรือใช้งานโปรดแจ้งที่ suebsak แอท gmail.com, Twitter @suebsak1]

 

 
IP: