2013.08.07 - น่ารู้ เรื่องพระธาตุเขี้ยวแก้ว

 

[ด้วยความอยากรู้ถึงประวัติและความเป็นมาของพระธาตุเขี้ยวแก้ว กรอปกับตอนนั้นกำลังจะได้มีโอกาสเดินทางไปกราบองค์พระธาตุเขี้ยวแก้วที่เมืองแคนดี้ ศรีลังกา แต่หาข้อมูลจากหลายแหล่งอาจไม่ได้ในทีเดียว ไหนๆก็ลงมือหาข้อมูลไว้แล้ว เลยรวบรวมไว้เผื่อจะเป็นประโยชน์กับคนที่กำลังจะหาข้อมูลเช่นกัน ขอขอบคุณทุกแหล่งข้อมูลที่ผมนำมาใช้ด้วยครับ ]

 

จากการหาข้อมูลจึงทำให้ทราบว่า พระธาตุเขี้ยวแก้ว หรือพระทาฐธาตุ คือพระธาตุส่วนที่เป็นเขี้ยวขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งข้อมูลในคัมภีร์พระไตรปิฏกในลักขณสูตร ได้กล่าวถึงมหาบุรุษลักษณะ 32 ประการ มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึง ลักษณะของพระทาฐะหรือเขี้ยวของบุคคลผู้มีลักษณะแห่งมหาบุรุษว่า "เขี้ยวพระทนต์ทั้งสี่งามบริสุทธิ์" ข้อมูลนี้ยืนยันว่า พระธาตุเขี้ยวแก้วมีทั้งหมด 4 องค์ ซึ่งหลักฐานในคัมภีร์บางเล่มบอกว่า

- พระธาตุเขี้ยวแก้วเบื้องบนขวา ท้าวสักกะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ จุฬามณีเจดีย์ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

- พระธาตุเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำขวา ประดิษฐานที่แคว้นกาลิงคะ (บางตำราเรียก กลิงครัฐ) แล้วจึงถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ ลังกา (ศรีลังกาในปัจจุบัน) *คือองค์นี้ที่ผมได้มีโอกาสไปกราบที่แคนดี้ ศรีลังกามาครับ

- พระธาตุเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย ประดิษฐาน ณ แคว้นคันธาระ [1] แล้วเชื่อว่าถูกอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่เมืองฉางอัน ประเทศจีน (ซีอาน) โดยพระภิกษุฟาเหียนเมื่อคราวจาริกไปสืบพระศาสนายังอินเดีย ปัจจุบันพระธาตุเขี้ยวแก้วองค์นี้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระมหาเจดีย์ ณ วัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง *พระธาตุเขี้ยวแก้วองค์นี้เคยถูกอัญเชิญมาไทยเมื่อ 14 ธันวาคม 2545 - 28 กุมภาพันธ์ 2546 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 75 พรรษาครับ

- พระธาตุเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำซ้าย ประดิษฐานในภพพญานาค

อันจะเห็นได้ว่าบนโลกมนุษย์ของเรานี้ มีพระเขี้ยวแก้วขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่ 2 องค์ คือที่ศรีลังกาและจีน ส่วนอีกสององค์นั้นหนึ่งอยู่บนสวรรค์ และอีกหนึ่งอยู่ที่เมืองบาดาลของพญานาคครับ นอกจากนี้พระธาตุเขี้ยวแก้วยังจัดเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่ไม่แยกกระจัดกระจาย องค์มีลักษณะแข็งแกร่งรวมกันแน่น พุทธศาสนิกชนจึงมีความศรัทธาเลื่อมใสในองค์พระธาตุเขี้ยวแก้วเป็นอย่างมาก

พระธาตุเขี้ยวแก้วที่ปรากฏในพระคำภีร์ต่างๆ

ตำนานเรื่องพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุเขี้ยวแก้ว มีการกล่าวไว้ในหลายคัมภีร์ด้วยกันซึ่งส่วนใหญ่มีเนื้อความที่มา และที่ประดิษฐานที่สอดคล้องกันกล่าวคือ

คำภีร์อรรถกถามหาปรินิพพานสูตร ได้กล่าวไว้ว่าถึงเหตุการณ์การแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อสิ้นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ว่า เมื่อเสร็จสิ้นการถวายพระเพลิง ด้วยปรากฏองค์พระบรมสารีริกธาตุรวม 16 ทะนาน โดยมีส่วนที่ไม่ต้องพระเพลิง (ไม่ไหม้ไฟ) อยู่ 7 องค์ด้วยกัน คือ พระเขี้ยวแก้ว 4 องค์ พระรากขวัญ (กระดูกไหปลาร้า) 2 องค์ และพระนลาฏ(หน้าผาก) 1 องค์ กาลครั้งนั้นกษัตริย์แลพราหมณ์ทั้ง 7 แว่นแคว้นได้ทราบข่าว จึงมาเฝ้ารอเพื่อขอแบ่งพระสรีรธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้แก่ พระเจ้าอชาตศัตรู แคว้นมคธ กษัตริย์ลิจฉวี นครเวสาลี กษัตริย์ศากยะ นครกบิลพัสดุ์ กษัตริย์ถูละ แคว้นอัลลกัปปะ กษัตริย์โกลิยะ แคว้นรามคาม พราหมณ์เวฏฐทีปกะ แคว้นเวฏฐทีปกะ และกษัตริย์มัลละ นครปาวา

โทณพราหมณ์แห่งนครกุสินารา จึงได้ทำหน้าที่แบ่งพระสรีรธาตุออกเป็น 8 ส่วนเท่า ๆ กัน เพื่อแบ่งให้กษัตริย์แลพราหมณ์ทั้ง 7 แว่นแคว้นนำประดิษฐาน ก่อพระสถูปให้ชาวเมืองทั้งหลายได้สักการะบูชา โดยเจ้าผู้ครองนครได้ไปนครละ 2 ทะนาน เมื่อโทณพราหมณ์แบ่งพระสารีริกธาตุอยู่นั้นได้ฉวยโอกาสหยิบพระเขี้ยวเบื้องขวาสอดใส่ไว้ในผ้าโพกศีรษะ แต่ท้าวสักกะเทวราช คือ พระอินทร์ทอดพระเนตรเห็นทรงดำริว่า ท่านพราหมณ์ผู้นี้มิสามารถทำการสักการะให้เหมาะสมแก่พระทาฐธาตุได้ จึงได้อัญเชิญลงในผะอบทอง แล้วทรงนำไปเทวโลก ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ประดิษฐานไว้ในพระจุฬามณีเจดีย์ ซึ่งมีพระเกศธาตุของพระพุทธองค์ที่ทรงตัดด้วยพระขรรค์คราวเสด็จออกบรรพชา และพระอินทร์ได้อัญเชิญมารักษาไว้อยู่ก่อนแล้ว (ตรงนี้จึงเป็นคติความเชื่อที่พุทธศาสนิกชน ตั้งจิตอธิฐานขอให้ได้ไปบูชาพระธาตุจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เมื่อถึงกาลจะละสังขารจากโลกนี้)

อนึ่งในการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุนั้น กษัตริย์โมริยะแห่งปิปผลิวัน มาถึงภายหลังเมื่อแบ่งพระสรีรธาตุหมดแล้ว จึงได้พระพุทธสรีรางคารไปแทน กาลต่อมาได้เกิดมีพระสถูปประดิษฐานพระสรีรธาตุขึ้น 10 แห่ง ทั้งนี้พระทาฐธาตุทั้ง 4 องค์ คือ พระเขี้ยวแก้ว นอกจากองค์หนึ่งที่พระอินทร์นำไปบูชาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้ว อีก 3 องค์ได้ไปประดิษฐานในคันธารปุระ แคว้นกาลิงคะ และภพบาดาลของพญานาค

ส่วนพระสรีรธาตุที่กษัตริย์แคว้นต่างๆ ได้ไปนั้น กาลต่อพระมหากัสสปะเถระ ได้พิจารณาเห็นจะมีอันตรายแก่พระสรีรธาตุทั้งหลาย จึงถวายพระพรพระเจ้าอชาตศัตรูให้เก็บรักษาเรียกว่าธาตุนิทานอัญเชิญพระสรีรธาตุจากแคว้นต่าง ๆ มาบรรจุรวมไว้ด้วยกัน จนถึงรัชสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช จึงโปรดให้นำพระบรมสารีริกธาตุทั้งหลายไปบรรจุในพระวิหาร 84,000 วิหารที่ทรงสร้างไว้ พระเจ้าอโศกมหาราชองค์นี้เองคือผู้ที่ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองไปทั่วชมพูทวีป และยังโปรดให้สมณทูตเดินทางไปเผยแผ่พระศาสนาถึงแคว้นสุวรรณภูมิ และจีนซึ่งจะเป็นเหตุให้ปรากฏว่าพระเขี้ยวแก้วองค์หนึ่งถูกอัญเชิญไปยังประเทศจีนซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป และยังมีหลักฐานปรากฏว่าพระเจ้าอโศกมหาราชได้โปรดให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุส่วนข้อนิ้วมือไปยังประเทศจีนอีกด้วย เป็นเหตุให้คติการบูชาพระบรมสารีริกธาตุได้แพร่หลายไปพร้อมกัน

คำภีร์ดาลาดาวังสะ(ทาฐวังสะ) ของลังกา ได้กล่าวถึงการแบ่งพระบรมสารีรกิธาตุในกาลนั้น และกล่าวถึงพระธาตุเขี้ยวแก้ว ทั้ง 4 องค์ ไว้ว่า พระเขี้ยวแก้ว องค์ที่หนึ่ง เทพยาดานำไป องค์ที่สอง นาคทั้งหลายนำไป องค์ที่สาม ตกไปอยู่เมืองคันธาระ องค์ที่สี่ ตกไปอยู่เมืองกาลิงคะ

[1] แคว้นคันธาระ เป็น 1 ใน 16 แคว้นใหญ่ของชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล ปัจจุบันคือทางตอนเหนือในรัฐนอร์ธเวสต์ฟอนเทียร์ และบางส่วนของรัฐปัญจาบของปากีสถาน ไปจนถึงพื้นที่บางส่วนทางตะวันออกของอัฟกานิสถาน

รวบรวมจาก
นิทรรศการเกี่ยวกับพระบรมสารีริกธาตุ : พระธาตุเขี้ยวแก้ว : http://oldwww.mcu.ac.th/relic/

บุหลง ศรีกนก, ประวัติพระบรมสารีริกธาตุ, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ : http://www.thaisnews.com/prdnews/budha/6.html

วิกิพีเดีย : http://th.wikipedia.org

วรรัตน์ ตานิกูจิ, ตามรอยต้นธารพุทธศิลป์ เยือนถิ่น 'คันธาระ', พระไทยเน็ต : http://www.phrathai.net/article/detail.php?catid=1&ID=501

 

บทความต่อเนื่อง >> 2013.10.05 - ครั้งหนึ่งของมหามงคลชีวิต กราบนมัสการพระธาตุเขี้ยวแก้ว เมืองแคนดี้ ศรีลังกา

 

 
IP:


 

แก็ดเจ็ตที่ผมคิดถึง: เพจเจอร์
ลองชวนให้คิดเพราะเหตุใด Facebook ถึงมีปุ่มทั้งให้ Like, Share, Hide และ Delete

Social Media ที่ผมใช้ในทุกๆวัน
เหมือนเจอที่ๆถูกใจบน "Medium"