2013.10.05 - กราบนมัสการพระธาตุเขี้ยวแก้ว เมืองแคนดี้ ศรีลังกา

 

จากบทความตอนที่แล้ว >> 2013.08.07 - น่ารู้ เรื่องพระธาตุเขี้ยวแก้ว

ที่ผมหาข้อมูลและเขียนไว้เป็นข้อมูลถึงองค์พระธาตุเขี้ยวแก้ว หรือพระทาฐธาตุซึ่งเป็นพระธาตุส่วนที่เป็นเขี้ยวขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยได้กล่าวไว้แล้วว่าหลักฐานในพระคัมภีร์ได้ว่าไว้ว่า พระธาตุเขี้ยวแก้วทั้ง 4 องค์ อยู่ที่ใดบ้าง อันได้แก่

- พระธาตุเขี้ยวแก้วเบื้องบนขวา ท้าวสักกะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ จุฬามณีเจดีย์ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

- พระธาตุเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำขวา ประดิษฐานที่แคว้นกาลิงคะ (บางตำราเรียก กลิงครัฐ) แล้วจึงถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ ลังกา (ศรีลังกาในปัจจุบัน)

- พระธาตุเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย ประดิษฐาน ณ แคว้นคันธาระ แล้วเชื่อว่าถูกอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่เมืองฉางอัน ประเทศจีน (ซีอาน) โดยพระภิกษุฟาเหียนเมื่อคราวจาริกไปสืบพระศาสนายังอินเดีย ปัจจุบันพระธาตุเขี้ยวแก้วองค์นี้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระมหาเจดีย์ ณ วัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง

- พระธาตุเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำซ้าย ประดิษฐานในภพพญานาค

อันจะเห็นได้ว่าบนโลกมนุษย์ของเรานี้ มีพระเขี้ยวแก้วขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่ 2 องค์ คือที่ศรีลังกาและจีน ส่วนอีกสององค์นั้นหนึ่งอยู่บนสวรรค์ และอีกหนึ่งอยู่ที่เมืองบาดาลของพญานาคครับ ซึ่งสององค์หลังนั้นสุดที่มนุษย์อย่างผมจะได้มีโอกาสไปกราบนมัสการได้ในตอนนี้ ดังนั้นองค์พระธาตุเขี้ยวแก้วสององค์ที่อยู่ในโลกมนุษย์จึงเป็นความตั้งใจอยากจะไปกราบให้ได้ รวมถึงได้มีโอกาสจะได้ไปวัดที่ประดิษฐานหรือเคยประดิษฐานครับ

เดินทางสู่เมืองแคนดี้ กราบพระธาตุเขี้ยวแก้ว ณ ดินแดนแห่งศรัทธา "ศรีลังกา"

แคนดี้เป็นเมืองสำคัญเมืองนึงของประเทศศรีลังกาครับ ดินแดนที่ประชาชนนับถือและศรัทธาพระพุทธศาสนามากที่สุดประเทศหนึ่ง แคนดี้ตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศในแถบเทือกเขาสูงกลางเกาะ (ประเทศศรีลังกาเป็นเกาะอยู่กลางมหาสุทรอินเดียครับ) การเดินทางจากไทยไปนั้นผมบินไปลงโคลัมโบ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของศรีลังกา และเดินทางโดยรถยนต์ต่อไปแคนดี้

ถนนหนทางที่ใช้เดินทางจากเมืองโคลัมโบไปยังแคนดี้มีสภาพตามรูปครับ แต่การเดินทางก็ไม่ได้ยากลำบากอะไร รถราวิ่งไปได้เรื่อยๆแม้จะไม่ได้เร็วนัก นั่งชมบ้านชมเมืองเค้าไปเพลินๆ ตลอดสองข้างทางมีวิถีชีวิตของชาวบ้านให้มองได้ไม่รู้เบื่อ แปลกตาดีครับ

เมื่อเข้าเขตเมืองแคนดี้ สภาพจากชนบทก็กลายเป็นตึกรามบ้านช่อง รถรามากมาย แต่ที่เยอะมากๆคือผู้คนครับ ไม่รู้ผู้คนที่นี่เค้ากำลังจะไปไหนกัน หรือมาซื้อของอะไรกันในเมือง มองไปทางไหนผู้คนเยอะแยะไปหมด ตามข้างทางในย่านชุมชนนี่เห็นเดินเบียดกันแน่น

แม้ศรีลังกาจะเป็นเมืองที่มีรากฐานผูกพันธ์กับพระพุทธศาสนามาช้านาน แต่ในยุคที่ตกเป็นเมืองขึ้นอังกฤษนั้นทำให้คริสต์ศาสนาได้แผ่ขยายมายังที่นี่ ในเมืองแคนดี้เราจึงเห็นทั้งวัดพุทธฯ และโบสถ์คริสต์อยู่ทั่วไป

ภาพจากมุมสูงมองลงไปยังเมืองแคนดี้ครับ

เมืองแคนดี้ (Kandy) มาจากภาษาสิงหล (ขันธะ) ที่หมายถึงเนินเขาครับ เดิมเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรแคนดี้ของชนชาวสิงหล ซึ่งเรืองอำนาจมากที่สุดประมาณศตวรรษที่ 15 สภาพเมืองเป็นเหมือนเมืองในหุบเขาครับ แคนดี้อยู่สูง 1,600 ฟุต หรือราว 500 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีประชากรราว 2 แสนคน (ข้อมูลปี 2011) คนไทยรู้จักแคนดี้ดีเพราะชาวพุทธต่างอยากเดินทางมาแคนดี้เพื่อกราบนมัสการพระธาตุเขี้ยวแก้วที่ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว หรือวัดศรี ดาลาดา มัลลิกาวะ (Sri Dalada Maligawa Temple) ที่นี่ครับ

วัดศรี ดาลาดา มัลลิกาวะ (Sri Dalada Maligawa Temple) มองจากมุมสูงครับ ใต้หลังคาสีทองนั่นคือที่ที่พระธาตุเขี้ยวแก้ว 1 ใน 2 องค์ที่อยู่บนโลกมนุษย์ประดิษฐานอยู่

ครั้งหนึ่งของมหามงคลชีวิต กราบนมัสการพระธาตุเขี้ยวแก้ว

นับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 9 ที่พระธาตุเขี้ยวแก้วองค์นี้ได้ประดิษฐานอยู่บนแผ่นดินลังกาแห่งนี้มาโดยตลอด มิเคยถูกนำออกนอกประเทศเลย ต่างจากองค์ที่ประดิษฐานที่ประเทศจีนที่มีการนำออกจากจีนไปยังประเทศต่างๆเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้มีโอกาสนมัสการ เหตุที่เป็นดังนั้นเพราะชาวศรีลังกานั้น ให้ความเคารพสูงสุด และถือเป็นสมบัติชิ้นสำคัญของชาติ ส่วนอีกความเชื่อคือชาวศรีลังกาเชื่อว่าหากนำพระธาตุเขี้ยวแก้วออกนอกประเทศจะนำภัยพิบัติมาสู่ศรีลังกาครับ พระธาตุเขี้ยวแก้วจะถูกประดิษฐานไว้ในหอพระธาตุเขี้ยวแก้วในวัด ที่มีการปิดล็อคแน่นหนา ไม่ได้เปิดให้เข้ากราบไหว้ได้ทุกวัน คนไทยหรือคนศรีลังกาเองถ้าไม่ได้ไปช่วงเทศกาลที่ในปีๆนึงก็จะมีไม่กี่วันที่เปิดให้เข้ากราบถึงในหอที่เก็บพระธาตุเขี้ยวแก้วได้ ก็จะต้องกราบและวางดอกไม้บูชาอยู่เพียงด้านนอก หรือต้องเป็นบุคคลพิเศษหรือโอกาสพิเศษจริงๆ

แต่ด้วยบุญบารมีของครูบาอาจารย์ที่ท่านนำพาผมไป และความกรุณาของพระสังฆนายก แห่งวัดอัสสคีรี วัดสายสยามวงศ์ที่แคนดี้ วันที่คณะเดินทางของพวกเรา ไปยังวัดดาลาดา มัลลิกาวะ จึงได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษที่จะได้เข้ากราบถึงองค์พระธาตุเขี้ยวแก้วถึงในหอพระฯ โดยคณะของพวกผมตอนแรกก็ไม่ได้ทราบล่วงหน้า พอทราบว่าได้รับโอกาสพิเศษทุกคนต่างปลื้มปิติ ส่วนผมนั้นทั้งดีใจ ปลื้มปิติ และตื่นเต้นบอกไม่ถูกเลยครับ อีกเรื่องที่ถือว่าพิเศษมากๆคือ เราได้รับการอนุญาตให้บันทึกภาพด้วย ดังนั้นภาพชุดนี้ถือเป็นภาพชุดหาชมยาก เชิญรับชมไปพร้อมๆกันครับ

เฝ้ารอและเดินทางมาหลายพันกิโลเมตรบัดนี้หอพระธาตุเขี้ยวแก้วอยู่เบื้องหน้าผมนี่เอง ขนลุก ปิติ ตลอดเวลา

ทางเข้าวิหารของวัดดาลาดา มัลลิกาวะ ประดิษฐานพระประธานและโดยรอบมีภาพวาดประวัติของพระธาตุเขี้ยวแก้ว

ภาพวาดบอกเล่าเรื่องราวพระธาตุเขี้ยวแก้ว จนมาประดิษฐานในหอพระธาตุเขี้ยวแก้วแห่งนี้

ใต้หลังคาทองคำที่เห็นไกลๆจากมุมสูงก่อนหน้านี้ครับ

โดยรอบของหอพระธาตุเขี้ยวแก้วมีภาพจิตรกรรมสวยงามโดยรอบ

ประตูด้านหลังของหอพระธาตุเขี้ยวแก้ว ปิดล็อคกุญแจแน่นหนาเลยครับ

ทางขึ้นหอพระฯ พระอาจารย์ที่เดินทางไปด้วยบอกว่า รูปเทพสององค์ที่พิทักษ์ทางขึ้นหอพระธาตุฯนี้คือ องค์ท้าวขัดตุคาม และ ท้าวรามเทพ ซึ่งท่านเป็นเทวดารักษาพระธาตุฯมาช้านาน ตามความเชื่อของพระพุทธศาสนาเราครับ กว่าพันปีแล้วที่ท่านปกปักษ์รักษาพระธาตุเขี้ยวแก้ว ณ ที่นี้

ด้านนี้คือประตูด้านหน้าของทางขึ้นหอพระธาตุฯ ทางเข้านมัสการครับ

ทางเข้าหอพระธาตุฯ ที่มีบานประตูอยู่ด้านหลังม่านครับ มีนายทวารยืนเฝ้าตลอดเวลาและจะเห็นว่าตอนนี้หอพระฯไม่ได้เปิดนะครับ พุทธศาสนิกชนจะได้กราบไหว้และวางดอกไม้บูชาที่จุดนี้ โดยขณะที่ผมไปนั้นก็มีทั้งดอกไม้และพุทธศาสนิกชนนั่งสวดมนตร์อยู่มากมายครับ ซึ่งคนตรงนั้นก็ไม่ทราบมาก่อนว่ากำลังจะมีการเปิดหอพระธาตุฯ เดิมทีผมคิดว่าเมื่อเราจะได้เข้าไปกราบก็คงจะทำเพียงมาเปิดกุญแจ แต่จากที่เห็นนั้นพบว่า การจะเปิดหอพระธาตุฯนั้น ไม่ได้นึกจะเปิดก็เปิดเลย เค้ามีขั้นตอนและพิธีที่น่าสนใจมากครับ

เริ่มจากแรกที่มีแค่นายทวารยืนเฝ้า ตอนนี้หน้าหอพระเริ่มมีเจ้าหน้าที่ของวัดมาเตรียมพร้อม มีการขั้นเชือก

มีนักดนตรีเดินเข้ามาหน้าประตูและเริ่มตีกลอง ณ ตรงนั้นคนศรีลังกาเองที่กราบๆอยู่ สวดมนตร์อยู่เริ่มฮือฮาและพูดต่อๆกันแล้วว่า กำลังจะมีการเปิดหอพระธาตุฯ

ชาวศรีลังกาต่างทยอยเข้ามาเรื่อยๆ ดูท่าทางพิธีแบบนี้คงไม่ได้มีบ่อยจริงๆ ดูเค้าก็ต่างมารอชมด้วยความสนใจ เริ่มมีเสียง สาธุ สาธุ สาธุ... ดังต่อเนื่องไม่ขาดสาย (เวลาไปทำบุญตามวัดต่างๆในศรีลังกา คนที่นั่นจะเอาจริงเอาจังกับ อนุโมทนามัย หรือ "บุญที่เกิดจากการแสดงความชื่นชมยินดีในบุญกุศลหรือความดีที่ผู้อื่นทำ" เป็นอย่างมากครับ เค้าจะสาธุด้วยเสียงอันดัง ต่อเนื่องยาวนาน และขอแตะ หรือขอจบของถวาย ของทำบุญที่เรากำลังจะทำด้วยบุญศรัทธาสูงสุด)

เมื่อบานประตูหอพระธาตุเขี้ยวแก้วเปิดออก คณะสงฆ์และครูบาอาจารย์ที่ท่านนำผมไปก็นำคณะเข้าไปก่อน ส่วนเราก็ค่อยๆตามชายผ้าเหลืองท่านเข้าไปด้วย

ที่ไวกว่าผมคือพุทธศาสนิกชนศรีลังกาที่ทยอยเข้าไปด้วย อันนี้ไม่ว่ากันครับเพราะผมเชื่อว่าเราต่างมาที่นี่ด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน และเค้าคงกำลังรู้สึกแบบผมแน่ ทั้งหมดอยู่ในอาการสำรวมสูงสุด ส่วนคนรอบๆยังคงส่งเสียง สาธุ สาธุ สาธุ ไม่ขาดสาย

ในระหว่างที่ทยอยเข้าไปกราบพระธาตุฯด้านใน ในหอพระธาตุฯนั้นมีพระพุทธรูปและเครื่องบูชา ทั้งเพชรนิลจินดา เครื่องทองมากมายที่มหากษัตริย์ มหาราชาองค์ต่างๆเคยถวายเป็นพุทธบูชา เพื่อแสดงถึงความศรัทธา

หลังม่านอีกชั้นนั้นคือที่ที่พระธาตุเขี้ยวแก้วประดิษฐานอยู่ครับ

ลวดลายเหนือบานประตูชั้นสุดท้าย

ภาพนี้ปรากฏตรงหน้าทั้งขนลุก ปลื้มปิติและรู้สึกเป็นบุญที่สุดที่ครั้งหนึ่งได้มีโอกาสกราบนมัสการองค์พระธาตุเขี้ยวแก้วใกล้ชิดถึงเพียงนี้ วินาทีนั้นสุดจะบรรยายจริงๆครับ สมแล้วกับสิ่งที่ตั้งใจเดินทางมายาวไกล

"ขอกราบนมัสการองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยความเคารพบูชา บุญกุศลใดที่เกิดจากการได้เผยแผ่ข้อมูลนี้แก่ผู้ศรัทธาเป็นธรรมทานแล้วนั้น ขอนอบน้อมถวายเป็นพุทธบูชา"

โอกาสต่อไปจะได้เขียนพาไปวัดที่เคยเป็นที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วอีกองค์หนึ่งที่ ซีอาน ประเทศจีน และที่ย่างกุ้ง พม่าครับ ขอบคุณที่สนใจติดตามนะครับ

 

ดูอัลบั้ม >> https://www.facebook.com/

 
IP:


 

แก็ดเจ็ตที่ผมคิดถึง: เพจเจอร์
ลองชวนให้คิดเพราะเหตุใด Facebook ถึงมีปุ่มทั้งให้ Like, Share, Hide และ Delete

Social Media ที่ผมใช้ในทุกๆวัน
เหมือนเจอที่ๆถูกใจบน "Medium"